ร้องเพลงให้เพราะ ต้องฝึกอย่างไร การจะปั้นเสียง ร้องเพลงให้เพราะ ได้นั้นต้องมีขั้นตอนที่ถูกต้อง การที่เราฝึกเทคนิคการใช้เสียงอย่างมีขั้นตอนจะทำให้เรามีเสียงร้องเพลงที่ไพเราะขึ้นได้ วันนี้ครูขิมมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ มาฝากกันนะคะ ไปดูกันเลย
ข้อแรก : เรียนรู้เรื่องการใช้ resonance ของเสียง คำว่า resonance หมายถึง การสั่นพ้อง ทฤษฎีนี้มีอยู่ว่าวัตถุแต่ละชิ้นมีความถี่ของตัวมันเอง ถ้าหากวัตถุนั้นถูกกระทบจากคลื่นเสียงที่มีความถี่ที่เท่ากันกับความถี่ตามธรรมชาติของมัน วัตถุก็จะเกิดการสั่นพ้อง เกิดการสั่นสะเทือนสะท้อนกลับออกมา หากลองนึกภาพเหมือนกับ การที่หนังกลองสั่นเมื่อนักดนตรีดีดกีต้าร์เบส หรือ การที่นักร้องโอเปร่าร้องเพลงเสียงสูงๆ จนแก้วเกิดการสั่นและแตกได้ แบบนี้เป็นต้น ร่างกายของเราก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อเราร้องเพลงก็คือการที่เราผลิตคลื่นเสียงออกมา ถ้าเราเข้าใจเรื่อง resonance เราก็จะรู้ว่าการที่จะทำให้เสียงเราก้องกังวานออกมาได้นั้น เราต้องอาศัยช่องเสียง และอวัยวะต่างๆ ในการก้องสะท้อนเสียงกลับออกมา เราจะไม่ใช้กำลังจากการดัน หรือกระแทกเส้นเสียงแรงๆ เท่านั้น เวลาเราร้องเพลงควรเริ่มจากการ Hum ใช้การฮัมเพื่อหาช่องเสียงที่ให้ resonance ที่ดีที่สุด มีความก้องกังวานที่สุดของโน๊ตนั้นๆ เช่น Chest Resonance, Mouth Resonance, หรือ Head Resonance ใช้การร้องที่จะดึงเอาความก้องกังวานของเสียงในช่องต่างๆ เหล่านี้ออกมาให้สมดุล ไม่หนาหรือไม่บางจนเกินไป
ข้อที่ 2 : ออกเสียงสระและพยัญชนะของคำให้ชัดเจน การร้องเพลงที่ดีจะต้องฟังแล้วผู้ฟังสามารถเข้าใจเนื้อหาของเพลงได้ไม่ต่างจากการฟังคนๆ หนึ่งพูด หากเราออกเสียงไม่ชัดเจน จะทำให้เพลงของเราฟังดูเหมือนกับว่าเราไม่มีทักษะที่เพียงพอในการร้องเพลง ทำให้ไม่สามารถออกเสียงของคำให้ชัดเจนได้ ในขณะเดียวกับที่เราจะต้องควบคุมโน๊ต ควบคุมโทนเสียงและ จังหวะในการร้อง ผู้ฟังก็อาจจะรู้สึกว่านักร้องคนนี้ไม่เก่ง และหากเพลงของเราฟังไม่รู้เรื่อง ก็จะไม่สามารถสื่อสารความหมายและความสวยงามของเพลงออกมาได้ เราจึงต้องฝึกฝนความคล่องตัวของอวัยวะต่างๆ ที่เราใช้ในการออกเสียง เช่น ปาก ลิ้น ช่องคอ กล้ามเนื้อรอบๆ กล่องเสียงเป็นต้น
ข้อที่ 3 : การควบคุมลมหายใจในการร้องเพลง นักร้องที่ดีจะมีทักษะในการควบคุมกำลังลมของตัวเองเป็นอย่างดี กล้ามเนื้อที่เราใช้ควบคุมระบบแรงดันและการหายใจนั้น คือ กล้ามเนื้อลำตัวทั้งหมด รวมไปถึงกล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือ แม้แต่กล้ามเนื้อยึดเกาะกระดูกซี่โครงในส่วนของหน้าอกเองด้วยเช่นกัน ความสามารถในการควบคุมแรงดัน และปริมาณของลมที่ใช้ในการร้องเพลง เป็นปัจจัยสำคัญระดับต้นๆ ของการร้องเพลง ลมหารใจที่มีแรงดันลมสม่ำเสมอ สามารถควบคุมความสั้นยาวของลมได้ จะทำให้นักร้องสามารถควบคุมคุณภาพของเสียงร้อง และกำลังในการถ่ายทอดเพลงในแต่ละประโยคได้อย่างลื่นไหล สวยงามมากขึ้น
นี่เป็น 3 สิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงในการฝึกเพื่อปั้นเสียงร้องเพลงของเราให้ออกมาไพเราะจับใจผู้ฟัง สำคัญที่สุดคือ หาช่องเสียงที่ให้ resonance ที่ดีที่สุดกับเรา ขั้นตอนต่อไปคือฝึกออกเสียงสระพยัญชนะให้ชัดเจนฟังง่าย เข้าใจได้ทุกคำ และขั้นตอนสุดท้ายคือ ฝึกควบคุมกำลังของลมที่เราจะต้องใช้ในการร้องเพลงเพื่อให้ทุกอย่างลื่นไหล และทำให้เพลงของเราไพเราะน่าฟัง
__________________________
สนใจเรียนร้องเพลง สอบถามรายละเอียดคอร์สเพิ่มเติมทาง Line Offiacial https://lin.ee/WkOWrFk
สนใจคอร์สเรียนออนไลน์ หรืออ่านบทความเพิ่มเติม https://vocalcoachkim.com/
ติดตามครูขิมช่องทาง Facebook Fanpage https://www.facebook.com/vocalcoachkim
__________________________
ครูขิม อริชาภัสร์ โค้ชปรับเสียงร้อง
*ปริญญาโทสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
*เป็นหนึ่งในศิลปินอัลบั้ม Love Maker by A.M. P.M. ในปี 2551 ร่วมกับค่าย RS Promotion
*ร้องคอรัสให้กับวง ETC ในอัลบั้ม Bring it back ค่าย KPN Music ในปี 2551
*เป็นผู้สอนวิชาขับร้องระดับสูงตามมาตรฐาน KCI ระดับสูงสุด (Red Card) ของสถาบันดนตรี KPN Music Academy ตั้งแต่ปี 2552
*เป็นกรรมการ และจัด workshop ให้กับผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศรายการ WeTV Rising Star จังหวัดเชียงใหม่ 3 ซีซั่นติดต่อกันตั้งแต่ปี 2553-2555
*จัด workshop สอนทักษะการร้องเพลงสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ และต่างประเทศ
*ร่วมงานกับนักร้อง นักดนตรี และโปรดิวเซอร์มืออาชีพที่มีชื่อเสียงในวงการ เป็นนักร้องอาชีพ มีประสบการณ์ในห้องอัด และการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ต ประสบการณ์สอนร้องเพลงกว่า 15 ปี ร่วมกับสตูดิโอดนตรีชั้นนำหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ฝึกและรวบรวมเทคนิคต่างๆเกี่ยวกับการร้องเพลงและการแสดงจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
**ศึกษาในหลักสูตรการสอนร้องเพลง จนเป็นครูผู้สอนที่ได้รับการรับรองของสถาบัน Institute For Vocal Advancement (IVA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี2019