ร้องเพลงให้มีเอกลักษณ์ ต้องรู้เทคนิคตีความเพลง

ร้องเพลงให้มีเอกลักษณ์ ต้องทำยังไง? คำถามนี้เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตตลอดกาลที่อยู่ในใจนักร้องมือใหม่หลายๆคน การร้องเพลงให้มีเอกลักษณ์ นอกจากเราจะต้องมีเทคนิคการใช้เสียง เทคนิคการร้องที่สามารถสร้างสรรค์ลักษณะเฉพาะให้คนสามารถจดจำเราได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราสร้างเอกลักษณ์ในการร้องเพลงของตัวเองขึ้นมาได้ ก็คือ เทคนิคการตีความเพลง

เทคนิคในการตีความเพลงแบบง่ายๆ ให้ถามตัวเอง 3 ข้อนี้

  1. เพลงนี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไร
  2. เพลงนี้ทำให้เราเห็นภาพเหตุการณ์อะไร
  3. เพลงนี้ทำให้เราเห็นภาพใคร

ร้องเพลงให้มีเอกลักษณ์ นั้นเป็นเรื่องท้าทาย หลายครั้งการร้องเพลงของเรา ไม่สามารถสื่อสารเพลงออกมาได้เนื่องจากเราไปยึดติดอยู่กับความคิด เราร้องไปและคิดไป พยายามครุ่นคิดเรื่องราว พยามนึกว่าเราควรจะต้องรู้สึกอะไร นึกพยายามในการถ่ายถอดเนื้อความในเพลง ซึ่งการทำแบบนี้เราก็จะเพียงแค่ร้องเพลงผ่านความคิด กลายเป็นการคิดไปร้องไป ความรู้สึกจึงไม่ถูกถ่ายทอดออกมา นึกเหมือนกับว่าเราเล่นละคร แต่แทนที่เราจะกลายเป็นตัวละครนั้น และแสดงออกมาจริงๆ ปรากฏว่าเราเอาแต่คิดว่าตัวละครนั้น ในสถานการณ์นั้น ควรจะทำอย่างไร รู้สึกอย่างไร แล้วเราจึงค่อยทำลักษณะอาการต่างๆ ออกมาตามที่เราคิดภาพไว้ แบบนี้ทำให้สิ่งที่เราถ่ายทอดออกมาไม่เป็นธรรมชาติ เพราะสิ่งที่คนฟังได้ยิน กับสิ่งที่เรารู้สึกขณะร้อง คือสิ่งเดียวกัน ถ้าเราไม่ได้รู้สึกกับเพลงจริงๆ ผู้ฟังก็ย่อมไม่สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกใดๆ ได้เช่นกัน

องค์ประกอบหลักของการตีความเพลง

ทีนี้กลับมาที่คำถาม 3 ข้อที่เราถามตัวเอง

เพลงนี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไร เมื่อเราร้องเพลงนี้เราก็ควรจะร้องด้วยความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะที่เราฟัง ถ้าเราฟังเพลงนี้แล้วเกิดความรู้สึกอะไร นั่นคือสิ่งที่เราจะเล่าความรู้สึกนั้นให้คนฟัง ให้จำไว้ว่า การร้องเพลงเป็นการเล่า “ความรู้สึก” ไม่ใช่การเล่า “เนื้อความ”

เพลงนี้ทำให้เราเห็นภาพเหตุการณ์อะไร ภาพเหตุการณ์นั้นจะถูกนำมาใช้เป็นฉากที่เราจะนำมาจินตนาการว่า ตัวเองกำลังร้องเพลงนี้อยู่ในสถานการณ์จำลองนั้น เช่น ถ้าเพลงทำให้เราเห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดบนสะพาน ช่วงเวลาเย็น มีลมพัด พระอาทิตย์กำลังตก ภาพนี้ก็จะเป็นภาพที่เราจินตนาการว่าเรากำลังอยู่ ณ ที่ตรงนั้นในขณะที่เรากำลังร้องเพลงนี้ การทำแบบนี้จะช่วยดึงอารมณ์ของเราออกมาได้ชัดเจนขึ้น

เพลงนี้ทำให้เราเห็นภาพใคร การร้องเพลงเพลงหนึ่ง โดยที่เราไม่มีบุคคลที่เป็นผู้ฟังของเราโดยตรงอยู่ในใจก็เหมือนการพูดลอยๆ น้ำหนักความน่าเชื่อถือในเพลงก็ย่อมจะไม่มี ถ้าเราสามารถสื่อสารเพลงได้ดี คนฟังจะตกอยู่ในฐานะของบุคคลที่สาม เขาจะสามารถมองเห็นบุคคลที่สอง ที่เราร้องเพลงนี้ให้ได้อย่างชัดเจนขึ้นมาจริงๆ หรือในบางกรณี นักร้องอาจจะใช้ผู้ฟังเป็นบุคคลที่สองเสียเอง เช่นในกรณีร้องเพลงเพื่อสื่อสารความรู้สึกขอบคุณ เพลงที่ร้องเพื่อเอ็นเตอร์เทนผู้ฟัง หรือ อาจจะเพลงที่ให้กำลังใจกับผู้ฟังเป็นต้น

นี่ก็เป็นเทคนิคง่ายๆที่ครูขิมนำมาฝากทุกคน ร้องเพลงครั้งหน้า ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะคะ

__________________________

สนใจเรียนร้องเพลง สอบถามรายละเอียดคอร์สเพิ่มเติมทาง Line Offiacial https://lin.ee/WkOWrFk

สนใจคอร์สเรียนออนไลน์ หรืออ่านบทความเพิ่มเติม https://vocalcoachkim.com/

ติดตามครูขิมช่องทาง Facebook Fanpage https://www.facebook.com/vocalcoachkim

__________________________

ครูขิม อริชาภัสร์ โค้ชปรับเสียงร้อง

*ปริญญาโทสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

*เป็นหนึ่งในศิลปินอัลบั้ม Love Maker by A.M. P.M. ในปี 2551 ร่วมกับค่าย RS Promotion

*ร้องคอรัสให้กับวง ETC ในอัลบั้ม Bring it back ค่าย KPN Music ในปี 2551

*เป็นผู้สอนวิชาขับร้องระดับสูงตามมาตรฐาน KCI ระดับสูงสุด (Red Card) ของสถาบันดนตรี KPN Music Academy ตั้งแต่ปี 2552

*เป็นกรรมการ และจัด workshop ให้กับผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศรายการ WeTV Rising Star จังหวัดเชียงใหม่ 3 ซีซั่นติดต่อกันตั้งแต่ปี 2553-2555

*จัด workshop สอนทักษะการร้องเพลงสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ และต่างประเทศ

 *ร่วมงานกับนักร้อง นักดนตรี และโปรดิวเซอร์มืออาชีพที่มีชื่อเสียงในวงการ เป็นนักร้องอาชีพ มีประสบการณ์ในห้องอัด และการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ต ประสบการณ์สอนร้องเพลงกว่า 15 ปี ร่วมกับสตูดิโอดนตรีชั้นนำหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่  ฝึกและรวบรวมเทคนิคต่างๆเกี่ยวกับการร้องเพลงและการแสดงจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

**ศึกษาในหลักสูตรการสอนร้องเพลง จนเป็นครูผู้สอนที่ได้รับการรับรองของสถาบัน Institute For Vocal Advancement (IVA) ประเทศสหรัฐอเมริกา​ ปี​2019

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *